คดีมรดก

 

Home / Page name

คดีมรดก 8fu,ifd me8fu ทำคดี ทนายความ mokp

คดีมรดก

ความหมายของมรดก
          มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รถยนต์ ห้องชุด สิทธิการเช่าซื้อ ทรัพย์สินต่าง ๆ เงินฝากในธนาคาร เป็นต้น
 
ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก
ทายาท มี 2 ประเภท คือ
ผู้รับพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
ทายาทโดยธรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย
 
ความหมายของผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เพื่อทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
 
คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก
บรรลุนิติภาวะ ( มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ )
ไม่เป็นคนวิกลจริต
ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม)
ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
พนักงานอัยการ
 
หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้
หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้
 
ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี
การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ให้ยื่นต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ได้แก่ ศาลแพ่ง (กทม.), ศาลจังหวัด (ต่างจังหวัด)
หากผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล
เอกสารที่ต้องนำมายื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก
สำเนาใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตายของผู้ตายและทายาททุกคนที่เสียชีวิตแล้ว
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายที่เจ้าหนาที่ประทับว่า "ตาย" แล้ว
สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและทายาททุกคนที่มีชีวิตอยู่
ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า ของสามีภรรยาของผู้ตาย
ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล กรณีเอกสารไม่ตรงกัน
สูติบัตรของบุตรกรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ
พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
หนังสือให้ความยินยอมของทายาทที่เซ็นยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่
บัญชีเครือญาติที่ถูกต้องตามความจริง
เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ต้องจัดการ เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส. 3, สมุดเงินฝาก, ทะเบียนรถ ฯล
 
การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้สรุปได้ดังนี้
 
1.เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท และเมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ความหมายของคำว่า "ตาย" ในที่นี้ จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลใดตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยกฎหมายสมมติที่เราเรียกว่า "การสาบสูญ"
 
2.กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ซึ่งจะขออธิบายว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์มรดก และสิ่งใดไม่เป็นทรัพย์มรดก คือ
        2.1 มรดกหรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า หุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน สิทธิเรียกร้องที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินได้ หน้าที่และความรับผิดของเจ้ามรดก และรวมถึงสิทธิต่างๆ บางประการ เช่น สิทธิเหนือพื้นดินซึ่งอาจโอนและรับมรดกกันได้ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ขายฝาก สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า (ที่เราเข้าใจกันว่า ค่าเซ้งหรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ) สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ถือว่าสิทธินี้เป็นมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทของลูกจ้างที่ตายได้ สิทธิเหล่านี้ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย จึงถือว่าเป็นมรดก
         2.2 กรณีไม่เป็นมรดก ได้แก่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกินซึ่งสิ้นไปเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตายไปสัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท เหล่านี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้น
 
3. ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หากว่ากองมรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดก เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเอาจากกองมรดกได้เพียงเท่าที่ทรัพย์มรดกมีอยู่ ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่านั้น
 
4. กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" และทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม"
คำว่า "ทายาท" หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามที่กฎหมายมรดกกำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม บุคคลที่จะรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ผู้รับพินัยกรรมอาจมีได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
 
         ดังนั้น จึงสรุปหลักได้ว่า การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก โดยหลักแล้ว เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมลง สิทธิในทางทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังทายาททันที แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม ทั้งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆ แต่กฎหมายได้จำกัดความรับผิดของทายาทไว้เพียง "ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน" ฉะนั้น ทายาทจะปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินที่จะตกทอดมาเป็นมรดกมีน้อยกว่าหนี้สินไม่ได้ และเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องทายาทนั้นได้ แม้ทายาทจะไม่ได้รับมรดกก็ตาม
 
ขั้นตอนในการจัดการวางแผนมรดก
1. รวบรวมรายการทรัพย์สินที่มีทั้งหมด
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทะเบียนทรัพย์สิน” มาให้ครบ ทั้งทรัพย์สินบางชนิดที่ไม่ได้มีทะเบียนเป็นหลักฐาน
2. ดูว่าทรัพย์สินแต่ละชนิดมีภาระติดพันหรือไม่
เพื่อทำให้การจัดการมรดกเรียบร้อยมากขึ้น สิ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาควบคู่และคนส่วนใหญ่มักจะลืมนั่นก็คือเรื่องของ “สินสมรส” บางครั้งทรัพย์สินอาจจะอยู่ในชื่อของเจ้ามรดกแต่เป็นสินสมรสก็เป็นได้
ยกตัวอย่างเช่น สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกัน มีเงินฝากโดยมีชื่อบัญชีเป็นชื่อของภรรยา เจ้ามรดกมีสิทธิในเงินฝากข้างต้นเพียงแค่ครึ่งเดียวในการระบุไว้ในพินัยกรรม เพราะอีกครึ่งเป็นของคู่สมรส ในขณะเดียวกันเจ้ามรดกอาจจะมีหุ้นในบริษัท และอาจจะถือไว้แค่ 10% สามีถืออีก 50% จึงต้องนำหุ้นทั้งหมดมารวมกันแล้วแบ่งคนละครึ่งคือคนละ 30% / 30% ที่ว่านี้คือกองมรดกที่สามารถตกทอดแก่ทายาทได้
3. เมื่อรวบรวมทรัพย์สินและแบ่งสินสมรสเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็สามารถเริ่มเขียนพินัยกรรมได้ ต้องการส่งมอบสิ่งที่มีให้แก่ใคร เท่าไหร่ และอย่างไรบ้าง
 
ตัวอย่างกรณีอุทาหรณ์
 
คู่สามีภรรยาอาจจะอยู่กันไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เกิดการหย่าร้าง ส่วนใหญ่การหย่าร้างมักจะจบไม่ค่อยดี ในกรณีที่มีลูกด้วยกันและลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในวันที่มารดาเสียชีวิต ตามกฎหมายแล้วบิดาสามารถเข้ามาเป็นผู้ปกครองของบุตรผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะได้ และยังสามารถที่จะสวมสิทธิในเรื่องการดูแลทรัพย์ของบุตรได้เช่นกัน ซึ่งเจ้ามรดกอาจจะไม่ประสงค์ที่จะให้เป็นแบบนั้น ดังนั้นถ้าไม่ได้เตรียมการไว้ เรื่องจากกรณีตัวอย่างอาจจะเกิดขึ้นกับใครอีกก็ได้
 
กรณีต่อมา
เป็นกรณีที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าทั้งที่ขณะนั้นเจ้ามรดกค่อนข้างสูงอายุแล้ว แต่ด้วยความแข็งแรงจึงไม่ได้เตรียมการอะไรไว้ กรณีข้างต้นเจ้ามรดกเสียชีวิต เมื่อถึงเวลาที่ต้องจัดการมรดก ขั้นตอนแรกจะต้องดำเนินการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งขั้นตอนการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทจะต้องมีการลงลายมือชื่อ หรือเซ็นยินยอม หลักฐานที่จะต้องนำมาประกอบจะต้องประกอบด้วยเอกสารหลักฐานของทายาทลำดับที่ 1 และ 2 กรณีข้างต้นบังเอิญบิดามารดาอยู่ต่างประเทศ และเสียชีวิตนานแล้ว ทำให้เอกสารไม่ครบ เนื่องจากต้องใช้ใบมรณบัตรของบิดามารดาเจ้ามรดกเพื่อแสดงความยินยอมให้คู่สมรสเป็นผู้จัดการมรดก ปัญหาคือขั้นตอนการได้มาซึ่งเอกสารที่ยุ่งยากและใช้เวลากว่า 2 ปี
ทำให้ทรัพย์สินที่มีโดน freeze แต่ธุรกิจก็ยังมีการดำเนินการอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและเดือดร้อน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทุกเดือน เงินเดือนพนักงานก็ต้องรับผิดชอบ เราจะแจ้งพนักงานว่าอยู่ในช่วงจัดการมรดกให้พนักงานช่วยทำงานก่อนโดยถ้าจัดการมรดกเรียบร้อยเมื่อไหร่จะนำเงินมาจ่ายแก่พนักงานก็ไม่สามารถทำได้ ไหนจะเงินกู้ธนาคาร เจ้าหนี้การค้า ทุกอย่างเป็นมูลค่าที่จะต้องหามาชำระทั้งสิ้น ในช่วงเวลาที่ได้แต่มองทรัพย์สินที่มีอยู่แต่ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ลองคิดภาพตามดูว่าลำบากแค่ไหนสำหรับคนที่อยู่ต่อ
 
4. ขั้นตอนการเริ่มเขียนพินัยกรรม
สิ่งที่มีและต้องการจะส่งต่อ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือภาระหนี้ต่าง ๆ จะมีการจัดการอย่างไร ไม่ใช่เขียนแค่จะยกอะไรให้ใคร สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงคือขั้นตอนไหนที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ศาลจะเป็นผู้แต่งตั้ง นั่นหมายความว่าเวลาที่ใช้จะนานขึ้น และกรณีที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงคือช่วงเวลาที่ไม่เสียชีวิต แต่เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายไม่สามารถใช้การอะไรได้เลย หรือ ตกอยู่ในสภาวะไร้ความสามารถ ถ้าช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นจะต้องจัดการทรัพย์สินควรจะจัดการอย่างไร
สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือรายละเอียดที่จะเขียนในพินัยกรรม ควรจะมองให้ครบรอบด้าน มีเนื้อหาอะไรบ้าง


ตัวอย่างเช่น การตั้งผู้จัดการมรดก การตั้งผู้ปกครองทรัพย์ของบุตรกรณีบุตรเป็นผู้เยาว์ การจัดการหนี้สินต่าง ๆ จะให้นำทรัพย์สินส่วนใดไปชำระหนี้ กรณีไปเสียชีวิตหรือไม่มีสติสัมปชัญญะดังกรณีข้างต้น และกรณีทำธุรกิจการเขียนยกหุ้นให้แก่ทายาทก็ควรคำนึงถึงแผนสืบทอด ตัวอย่างกรณีมีลูกที่อาศัยอยู่ต่างประเทศและจะไม่กลับมาสืบทอดธุรกิจต่อและมีอีกคนทำธุรกิจอยู่ แบ่งหุ้นให้ลูกทั้ง 2 คน คนละเท่า ๆ กัน ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ช่วยดำเนินธุรกิจสักเท่าใดนัก
รวมถึงอำนาจในการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน ดังนั้นการมองเรื่องแผนสืบทอดไม่ได้แปลว่าการให้หุ้นไม่เท่ากัน คนที่อยู่ต่างประเทศอาจจะไม่ได้ส่วนแบ่งที่เป็นหุ้นเลย แต่อาจจะแบ่งทรัพย์สินส่วนอื่นให้เป็นการชดเชยได้ ถ้ามีความประสงค์จะให้มูลค่าทรัพย์สินมีความใกล้เคียงกันในการแบ่งทรัพย์สิน ส่วนในการดำเนินธุรกิจครอบครัว หุ้นควรจะตกอยู่กับทายาทที่ช่วยดำเนินธุรกิจครอบครัว ในขณะเดียวกันถ้าเป็นตระกูลที่มีธุรกิจครอบครัวและมีทายาทหลายคนถือหุ้นอยู่ ถ้าไม่มีการวางแผนมรดกเลย ในวันที่ทายาทคนใดคนหนึ่งไม่อยู่หุ้นก็จะถูกแบ่งให้กับคู่สมรสของทายาทแต่ละคน ซึ่งบางครอบครัวมีนโยบาย/กติกาว่าการตกทอดสำหรับทรัพย์สินที่เป็นหุ้นของธุรกิจต้องการจะส่งตรงให้กับทายาทสายตรงที่เป็นลูกเท่านั้น ไม่ต้องการให้เขยสะใภ้มีสิทธิในการรับมรดกในส่วนดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินข้ามตระกูล ในอนาคตเมื่อคู่สมรสได้หุ้นมรดกไป กรณีคู่สมรสเสียชีวิต บิดามารดาคู่สมรสเข้ามาเป็นทายาท เริ่มเกิดความวุ่นวายและทำให้การส่งต่อธุรกิจไม่ยั่งยืน และทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการแยกประเภททรัพย์สินที่เป็นธุรกิจของครอบครัวออกมา
 
โดยพินัยกรรมสามารถทำได้ 5 แบบดังนี้
1. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
คือ เขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ลงวัน เดือน ปีที่ทำ และที่สำคัญต้องลงลายมือชื่อผู้ทำด้วย กรณีนี้จะมีพยานมารับรู้การทำพินัยกรรมด้วยหรือไม่มีก็ได้
2. พินัยกรรมแบบธรรมดา
เป็นพินัยกรรมที่สามารถพิมพ์ขึ้นมาได้ ผู้ทำต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คนและพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมด้วย
3. พินัยกรรมแบบฝ่ายเมือง
เป็นการทำพินัยกรรมแบบให้เจ้าหน้ารัฐช่วยทำ ใช้พยาน 2 คน โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งความประสงค์และให้ถ้อยคำข้อความของตนแก่เจ้าพนักงานที่เขตหรืออำเภอพร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน ผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยานทั้ง 2 ต้องลงลายมือชื่อไว้ จากนั้น เจ้าพนักงานจะลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ที่ทำ พร้อมประทับตราตำแหน่ง
4. พินัยกรรมแบบลับ
อาจจะเขียนด้วยลายมือของตนทั้งฉบับ หรือพิมพ์ขึ้นมาก็ได้ ปิดผนึกแล้วไปฝากกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อำเภอหรือสำนักงานเขต
5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา
ในกรณีที่ผู้ต้องการทำพินัยกรรมไม่อยู่ในสภาวะที่สามารถขยับร่างกายได้ หรือป่วยหนักมาก
การทำพินัยกรรมไม่ยาก เพียงแต่ถ้าทรัพย์สินมีความซับซ้อนในเรื่องของการจัดการ อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น รอให้อายุครบเท่าไหร่แล้วค่อยมารับ ทรัพย์สินที่มอบให้แล้วห้ามขาย เป็นต้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรึกษาผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายและมีประสบการณ์โดยตรงมาช่วยดำเนินการ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

Project Image
บทความคดีหมิ่นประมาณ

ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


Project Image
บทความนิติบุคคล

 บุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นเพื่อให้มีความสามารถ มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบได้ตามกฎหมายเหมือนกับบุคคลธรรมดา แม้ว่านิติบุคคลจะมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่ก็ไม่สามารถกระทำการเหมือนกับบุคคลธรรมดาได้ทุกเรื่อง